Q1 ยอดรูดกรุงศรีฯโต 11% แห่ช็อปเครื่องใช้ไฟฟ้า-มือถือรุ่นใหม่

อัปเดตล่าสุด 3 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 529 Reads   

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1/62 ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต (สเปนดิ้ง) ของกรุงศรีเติบโตอยู่ที่ 11% โดยมียอดเปิดบัตรใหม่ที่ 1.6 แสนบัตร ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลโตได้ 8-9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ปัจจุบันกรุงศรีมีฐานลูกค้าที่รวมบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลอยู่ทั้งสิ้น 3.8 ล้านราย หรือจำนวนบัญชี 8-9 ล้านบัญชี


“ล่าสุดถึงวันที่ 15 เม.ย. 62 ยอดสเปนดิ้งอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท โต 10% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้้งปีคาดว่าจะโต 12% หรือคิดเป็นมูลค่า 3.2 แสนล้านบาท ส่วนพีโลนปล่อยใหม่แล้ว 3.2 หมื่นล้านบาท จำนวนบัญชีใหม่ 1.25 แสนบัญชี ทั้งปีคาดว่าจะโตได้ 10% ยอดสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างรวมสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1.45 แสนล้านบาท”


นายฐากรกล่าวว่า ยอดสเปนดิ้งที่เพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายผ่านบัตรในห้างสรรพสินค้าที่สูงขึ้นกว่าปีก่อน โดยเฉพาะบัตรโคแบรนด์ที่ทำกับห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส โฮมโปร เซ็นทรัล และโรบินสัน มีการใช้จ่ายในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“เรามองว่ายอดการใช้จ่ายปีนี้โตได้ตามเป้าที่ 12% โดยโตจากการซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ จากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้ความต้องการมีเพิ่มขึ้น และการซื้อโทรศัพท์มือถือที่มีการเปิดจำหน่ายรุ่นใหม่ถึง 3 ค่าย รวมถึงการช็อปออนไลน์ที่มียอดเพิ่มขึ้นมากในช่วง 2-3 เดือนก่อน” นายฐากรกล่าว


ขณะที่ในไตรมาส 2 ก่อนเทศกาลสงกรานต์มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรโดยการกดเงินสดค่อนข้างมาก และกลับมาใช้จ่ายอีกครั้งในช่วงหลังสงกรานต์ ทำให้ยอดการใช้จ่ายช่วงนี้เติบโตราว 4-5% รวมถึงมียอดการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงนี้เติบโตกว่าปีที่ผ่านมา 15-20% ส่วน NPL นั้นจนถึง 15 เม.ย. 62 สำหรับบัตรเครดิตมี NPL อยู่ที่ระดับค่อนข้างต่ำ 1.05% ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ 1.2% และสินเชื่อส่วนบุคคลมี NPL อยู่ที่ 2.4% ลดลงจากเดิมที่อยู่ 2.8% ดังนั้นจึงไม่มีอะไรต้องกังวลเพราะบริษัทมีการควบคุมที่ดี รวมถึงการที่กลุ่มผู้ใช้บัตรเครดิตธนาคารที่มีอายุเฉลี่ย 48 ปีส่วนใหญ่จะมีรายได้เกิน 3 หมื่นบาท/เดือน ถือว่ามีรายได้ดีสำหรับการที่สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตยังเติบโตได้ดี แม้ ธปท.จะเข้มงวดขึ้น มองว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหนี้นอกระบบกลับเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้น


“NPL ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงไม่ได้ห่วงมาก ส่วนใหญ่มีลูกค้าเกรด A และ B ถึง 80% แม้ว่าลูกค้าเกรด B จะมีการชำระเงินล่าช้าบ้าง ทำให้มีบันทึกในเครดิตบูโร แต่เราก็ได้ติดตามและประเมินแนวโน้มการชำระเงินทุก 3-6 เดือนอยู่แล้ว” นายฐากรกล่าว